Responsive image Responsive image

ข้าวสารเบลนด์ได้

12 พฤศจิกายน 2561

ข้าวสารเบลนด์ได้
เบลนด์ข้าวอย่างไรให้อร่อย สุก และสุขทั่วกันทั้งคนปลูกคนกิน

เฟร้นช์ เบลนด์ เวียนนา เบลนด์ อเมริกัน เบลนด์ ไปจนถึงซิกเนเจอร์ เบลนด์ ที่เป็นรสเฉพาะของร้านกาแฟแต่ละร้าน คือศัพท์แสงที่คอกาแฟรู้กันและให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวันนี้จะดื่มเอสเปรสโซ่ ลาเต้ หรือโคลด์บริวดี เพราะนักดื่มย่อมรู้ดีว่า การเบลนด์หรือผสมกาแฟจากแหล่งปลูกที่ต่าง ความสูงของระดับน้ำทะเลที่ต่าง การเก็บเกี่ยวที่ต่าง หรือวิธีการคั่วที่ต่าง ถือเป็นความสร้างสรรค์และศิลปะเฉพาะตัวของผู้คั่วแต่ละราย และนำมาซึ่งกลิ่นรสพิถีพิถันที่อยู่ในถ้วยกาแฟให้เราได้ลิ้มลอง

แต่ถ้าความพิถีพิถันเดียวกันนั้นอยู่ในข้าวที่เรากินกันทุกวันล่ะ, จะเป็นอย่างไร ก็ในเมื่อกาแฟเบลนด์ได้ ชาก็เบลนด์ได้ แล้วทำไมข้าวสารจะถูกเบลนด์ด้วยวิธีคิดเดียวกันไม่ได้!



ในฐานะคนกินข้าวที่เริ่มสนใจกลิ่น รส และคุณประโยชน์เรื่องสุขภาพ เราจึงเริ่มเสาะหาข้าวสายพันธุ์ดีที่ให้กลิ่นรสที่ดีและได้รับการยอมรับในวงกว้าง แน่นอนว่าข้าวหอมมะลิย่อมเป็นชื่อแรกที่เรานึกถึง ด้วยชื่อเสียงที่ขจรขจายเหมือนกลิ่นหอม ๆ ได้รับการยอมรับระดับเวทีโลกว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุด ที่สำคัญคือหาซื้อง่าย ร้านข้าวเล็กใหญ่ล้วนมีข้าวเม็ดเรียวสวยวางจำหน่ายถ้วนทั่ว การเลือกบริโภคข้าวหอมมะลิของผู้บริโภคจึงมากขึ้นตามความต้องการ ซึ่งก็ฟังดูเหมือนจะดีที่เรามีข้าวดีๆ ให้อุดหนุนได้ง่าย ๆ แต่สิ่งที่อยู่ลึกลงไป คือการทำให้ข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ได้รับความนิยมเท่า ค่อย ๆ สูญหายไปเพราะไม่มีคนปลูกเนื่องมาจากไม่มีคนกิน

และถ้าจะว่ากันให้ลึกลงไปกว่านั้น, ไม่ใช่ทุกนาในเมืองไทยที่จะปลูกข้าวหอมมะลิได้ดี เพราะดิน น้ำ สภาพอากาศ และปัจจัยรายล้อมอีกมากมายส่งผลต่อรสชาติ ความหอม ไปจนถึงรสสัมผัสของข้าวที่เติบโตขึ้นมา พื้นที่ราบลุ่มอย่างภาคกลางปลูกข้าวหอมมะลิอย่างไรก็ไม่หอมหวานเท่าข้าวหอมมะลิถิ่นอีสาน ในขณะเดียวกัน ก็มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไปจนถึงพันธุ์ปรับปรุงที่เหมาะสมกับดินดีภาคกลางอยู่ไม่น้อย เพียงแต่เมื่อไม่มีคนกิน คนปลูกก็ไม่รู้จะปลูกไปเพื่ออะไร เหตุและผลเหล่านี้ส่งผลให้คนกินอย่างเรารู้จักข้าวอยู่ไม่กี่สายพันธุ์



นั่นจึงทำให้โครงการศาลานาสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในระบบที่ยั่งยืนด้วยการรับซื้อข้าวจากแหล่งปลูกที่เหมาะสมกับข้าวแต่ละสายพันธุ์ และค้นหาสัดส่วนที่ถูกต้องในการเบลนด์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์เพื่อตอบความอร่อยคุ้นเคยของคนที่ยังติดกลิ่น ติดรสแบบข้าวหอมมะลิ แต่อยากได้คุณประโยชน์เพิ่มขึ้นจากข้าวเมล็ดสีที่กลิ่นและรสแตกต่างไป และมีรายละเอียดน่าสนใจเฉพาะตัว จากการลองเบลนด์ ลองชิมอยู่หลายนาน ศาลานาก็พบสัดส่วนที่งดงามของ ‘ข้าวหอม 5 สายพันธุ์’ อันประกอบไปด้วย ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมช่อราตรี จากกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายทั้งภาคกลางและภาคอีสาน เป็นบันไดขั้นแรกๆ สำหรับคนที่ยังชอบรสสัมผัสของข้าวหอมมะลิคุ้นลิ้น แต่อยากได้คุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพราะข้าวหอม 5 สายพันธุ์นี้ เปรียบเหมือนวิตามินรวมในรูปแบบของข้าว ช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดและหัวใจแข็งแรง ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าข้าวทั่วไป 

หลาย ๆ คนอาจเคยผสมข้าวหลายพันธุ์กินเอง บ้างผสมข้าวกล้องกับข้าวขาว บ้างผสมข้าวเหนียวลงไปเพิ่มความหนุบหนับ แล้วพบว่าข้าวแต่ละชนิดสุกไม่เท่ากัน แฉะบ้าง ดิบบ้าง ยังกรุบ ๆ เกินอร่อยบ้าง แต่กับข้าวหอม 5 สายพันธุ์นี้ ศาลานาได้ทำการทดลองจนได้ผลลัพธ์ว่าการใช้ข้าวพันธุ์เดียวกันคือข้าวหอม ทำให้ทุกเมล็ดสุกพร้อมกัน ไม่มีพันธุ์ไหนนุ่มเกินไปหรือดิบเกินอร่อยนั่นเอง  



ที่สำคัญ ข้าวเบลนด์นี้ยังมาพร้อมความมั่นใจว่าปลอดเคมี จากกระบวนการรับรองคุณภาพ SALANA PGS ที่เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ และเป็นการรับรองทุกรอบการผลิต คนกินอย่างเราจึงมั่นใจได้ว่าทุกความอร่อยจะไม่มีสารเคมีปนเปื้อนให้เสียสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรรักษาสายพันธุ์ ความมั่นคงทางอาหาร และใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยในอิ่มเดียว

และนั่น คือพลังเล็ก ๆ ที่คนกินข้าวจะร่วมเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืนตามความหมายของคำคำนี้จริง ๆ  



___________
เรื่อง: จิราภรณ์ วิหวา
ภาพ: พิชาญ สุจริตสาธิต



เรื่องที่น่าสนใจ

โลกใบนี้มีเรื่องให้เด็ก ๆ เรียนรู้มากมาย ตั้งแต่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ได้อย่างไร

เพราะชีวิตมีเรื่องยาก ๆ เยอะแล้ว มาทำเรื่องหุงข้าวให้เป็นเรื่องง่าย ๆ กันดีกว่า

ข้าวเอเชียเหมือนกัน แต่สั้น-ยาว-ใหญ่ ไม่เท่ากัน รูปพรรณสัณฐานของข้าว บอกอะไรเราบ้าง

ร้อยพ่อพันธุ์แม่ ย้อนดูต้นกำเนิดกลิ่นหอมโชยของข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์

ข้าวที่เรากินอยู่ทุกวันคือพืชที่มีชีวิต แม้แต่หลังเก็บเกี่ยวแล้ว เมล็ดข้าวก็ยังเปลี่ยนแปลงตามเวลา นั่นทำให้เส้นทางของข้าวตั้งแต่นาสู่จานมีจังหวะเวลาเฉพาะตัวที่สัมพันธ์กับฤดูกาล