Responsive image Responsive image

ข้าวเอเชียเหมือนกัน แต่สั้น-ยาว-ใหญ่ ไม่เท่ากัน

28 กุมภาพันธ์ 2566

เคยสังเกตไหมว่าข้าวในเมนูอาหารสัญชาติต่าง ๆ ที่เรากิน มีลักษณะไม่เหมือนกัน ทำไมข้าวอินเดียถึงย๊าวยาว ข้าวไทยมีทรงรี ๆ แต่ข้าวญี่ปุ่นกลับเป็นเมล็ดป้อม อวบกลม อะไรคือสิ่งที่ทำให้ข้าวบ้างก็สั้น บ้างก็ยาว บ้างก็รี แล้วรูปพรรณสัณฐานของข้าวนี้ บอกอะไรเรา
 
เคยมีคนสำรวจว่าบนโลกนี้มีข้าวมากกว่า 12,000 สายพันธุ์ นอกจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมจะทำให้ข้าวแต่ละชนิดมีกลิ่นหอม รสสัมผัส และความสั้นยาวที่แตกต่างกันแล้ว ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แสงสว่าง ดิน และอุณหภูมิ ก็มีผลทำให้พืชพันธุ์แตกต่างกันด้วย โดยเราสามารถจัดหมวดหมู่ และแบ่งข้าวออกตามลักษณะและพื้นที่เพาะปลูกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
 

 
ข้าวอวบ ๆ กลม ๆ ที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า ข้าวญี่ปุ่น จริง ๆ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ข้าวจาปอนิกา (japonica)’ เป็นข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อถึงระยะเวลาการเจริญเติบโตครบตามกำหนด ต้นข้าวก็จะออกดอกทันทีไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้นหรือยาว ทำให้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี พบได้ตามเขตอบอุ่น หรือบริเวณที่มีอากาศไม่หนาวจัด เช่น ญี่ปุ่น จีนตอนเหนือ ไต้หวัน และเกาหลี ลักษณะต้นเตี้ย ฟางแข็ง เมล็ดข้าวมีปริมาณอะไมโลสในแป้งต่ำ ทำให้เมื่อสุกจะค่อนข้างนุ่มและจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว เมื่อหุงสุกแล้วจะไม่มีกลิ่น และเนื่องจากอุณหภูมิในเวลากลางวันและกลางคืนแตกต่างกันหลายองศา ข้าวจึงสะสมแป้งและน้ำตาลไว้สูง แต่นำไปใช้ในกระบวนการหายใจต่ำ จึงส่งผลให้ข้าวญี่ปุ่นอวบอ้วนอย่างที่เห็น
 
ส่วนข้าวไทยหรือข้าวอินเดีย ถูกจัดไว้ในประเภทเดียวกันชื่อว่า ‘ข้าวอินดิกา (indica)’ ข้าวลักษณะนี้พบได้ตามเขตลมมรสุมที่มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี เช่น อินเดีย ไทย และเวียดนาม ลักษณะของต้นจะสูง ฟางอ่อน เมล็ดข้าวเรียวยาว ในข้าวมีปริมาณอะไมโลสในแป้งสูง ข้าวจึงค่อนข้างร่วนไม่เกาะติดกัน และส่วนใหญ่มักมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ข้าวอินดิกามีทั้งข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และไม่ไวต่อช่วงแสง โดยข้าวที่ไวต่อช่วงแสงมักจะออกดอกเฉพาะช่วงที่มีเวลากลางวันสั้นกว่า 12 ชั่วโมง หรือช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม พันธุ์ข้าวประเภทนี้จึงปลูกและให้ผลผลิตได้ปีละหนึ่งครั้ง หรือที่เรียกว่า ข้าวนาปี
 
และประเภทสุดท้ายคือ ‘จาวานิกา (javanica) ข้าวเมล็ดป้อมใหญ่’ ที่ว่ากันว่าเป็นข้าวพันธุ์ผสม ระหว่างข้าวอินดิกาและจาปอนิกา ปลูกมากในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และหมู่เกาะริวกิว แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนักเพราะให้ผลผลิตต่ำ ปัจจุบันเราจึงพบเจอข้าวชนิดนี้ในท้องตลาดหรือร้านอาหารได้ค่อนข้างยากสักหน่อย
 
รู้จักข้าวครบทั้ง 3 ประเภทแล้ว ลองทายดูไหมว่า ข้าวศาลานาที่เราได้มาจากพี่น้องเกษตรกรในประเทศไทย รับซื้อมาในราคาที่เป็นธรรม เพื่อนำมาผ่านกระบวนการขัดสี กลายเป็นข้าวซ้อมมือที่อร่อย ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพนั้น จัดอยู่ในข้าวประเภทไหน
 
LINE: @Salana https://bit.ly/3cKp4Gj
Website www.salanashop.com
Shopee https://shope.ee/403p63yFf6
Lazada www.lazada.co.th/shop/salana-organic-village



เรื่องที่น่าสนใจ

วิธีกินอย่างพอดี เมื่อเป็นเบาหวาน

ดื่ม ‘ข้าว’ กันไหม? จากวัฒนธรรมดื่มน้ำข้าว สู่นวัตกรรมชงดื่มง่ายเพื่อผู้สูงวัย

เราได้ยินคำว่าสังคมผู้สูงอายุกันมาหลายปี พอจะรู้อยู่บ้าง ว่าบ้านเราเริ่มมีประชากรสูงวัยมากขึ้นกว่าเก่า แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทันได้ตั้งตัว

ครั้งแรก! ของการเปิดเผยโฉมหน้าของชาวนาตัวจริง ใครอยากเห็นหน้าค่าตาและฟังเสียงพี่ ๆ ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์อร่อย ๆ ให้เรากิน เชิญทางนี้!

ถ้าพูดถึงเรื่องผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวและการทำนา เราเชื่อว่าชื่อของ เดชา ศิริภัทร หรืออาจารย์เดชาจะติดโผขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ