Responsive image Responsive image

คำจีนในชามข้าว

4 กุมภาพันธ์ 2562



คำจีนในชามข้าว
เรื่องราวจีนปนไทยที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่เรากิน


ในข้าวหนึ่งชาม ไม่ได้มีแค่คาร์โบไฮเดรตในหนึ่งอิ่ม แต่ยังมีเรื่องราว ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเป็นมาของเราอยู่ในนั้น

ในเทศกาลตรุษจีนนี้ มาเรียนรู้คำจีนที่เกี่ยวเนื่องกับชามข้าว ทั้งในฐานะคนกินหนึ่งคน ไปจนถึงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ!



“เจี่ยะ-ปึ่ง” 
吃饭 
กินข้าว


ลูกหลานชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว คงจะได้เคยได้ยินหม่าม้าหรืออาม่าบอกให้ไปกินข้าวด้วยคำคำนี้กันมาบ้าง จะว่าไปแล้ว คำสั้น ๆ นี้สะท้อนวัฒนธรรมการกินที่คล้ายเคียงพี่ไมยบ้านเรา “เจี่ยะ ปึ่ง บ่วย” หรือ “กินข้าวหรือยัง” ไม่ใช่เพียงประโยคคำถาม แต่เป็นความห่วงใยโดยมีข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักทำหน้าที่เป็นตัวแทน

ว่ากันในเชิงวัฒนธรรมการกิน ไทยและจีนเป็นชาติที่กินข้าวกับ ‘กับข้าว’ คือมีกับข้าวเพื่อให้กินข้าวซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญได้มาก ๆ และมีธรรมเนียมการสร้างสมดุลทั้งรสชาติและคุณค่าอาหารเหมือน ๆ กัน 

มีเหมือน ย่อมมีต่าง (ตัดเข้าเรื่องสไตล์สุภาษิตจีน) อาจารย์เดชา ศิริภัทร เคยตั้งข้อสังเกตถึงความต่างเล็ก ๆ ว่า คนจีนจะกินข้าวหนึ่งคำ กับข้าวหนึ่งคำ แยกจากกัน ข้าวจึงต้องมีรสและกลิ่นชัดเจน เหมือนข้าวหอมมะลิที่เรานิยมกันในปัจจุบัน ส่วนคนไทยกินข้าวที่ราดกับข้าวรสจัดจ้าน ข้าวแบบไทยแท้ ๆ จึงเป็นข้าวที่ดูดซับน้ำแกงแล้วไม่แฉะและไม่มีรสมากเกินไปจนแย่งซีนความอร่อยของกับข้าว แต่ปัจจุบันที่วัฒนธรรมกลืนมากลืนไป การเลือกข้าวจึงเป็นไปตามความชอบ ราคา และความสะดวกในการซื้อหา หรือไม่, เราก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า กำลังกินข้าวอะไรอยู่



“จ่อซัว” 
座山
เจ้าสัวชาวจีน 


จ่อซัว หรือ เจ้าสัว ยังเป็นคำที่เถียงกันไม่จบว่าเป็นคำไทยโบราณอย่าง ‘เจ้าขรัว’ แล้วเพี้ยนมาเป็นเจ้าสัวหรือจ่อซัวในภายหลัง เพราะไม่พบว่ามีคำนี้ในประเทศจีน แต่จะเจ้าขรัว เจ้าสัว หรือ จ่อซัว ถ้าพูดถึงคนจีนที่เข้ามาค้าขายสร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยในเมืองไทย เราคงคิดถึงเจ้าสัวค้าข้าวเป็นอันดับต้น ๆ 

หากจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้เห็นภาพพอสังเขป ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยอยุธยาที่คนไทยปลูกข้าวไว้กินเองเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกค้าขายยังไม่มากมายนัก จนมาต้นรัตนโกสินทร์ ฝรั่งมังค่าเริ่มมาเปิดกิจการโรงสีในบางกอกเพื่อส่งออกข้าวไปยังประเทศต่าง ๆ แต่กลายเป็นว่า การมาของชาวจีนร่วมล้านคนที่อพยพเข้ามายังสยามสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งเถ้าแก่ชาวจีนไปจนถึงเจ้าภาษีนายอากรชาวจีนที่ทำงานให้รัฐ เริ่มเห็นลู่ทางสร้างโรงสีโดยให้วิศวกรฝรั่งมาดูแลให้ในระยะแรก ประกอบกับความเป็นคนจีนที่ติดต่อค้าขายกับพ่อค้าจีนที่มาอยู่ก่อนหน้าตามหัวเมืองได้ง่ายดายกว่า จึงสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่จนบริษัทฝรั่งค่อย ๆ ลดบทบาทลง ธุรกิจค้าข้าวของคนจีนในเมืองไทยแข็งแกร่งและเป็นปึกแผ่นมาจนถึงปัจจุบัน ตระกูลเจ้าสัวหลายตระกูลในเมืองไทยก็เริ่มต้นจากธุรกิจค้าข้าวตั้งแต่สมัยโล้สำเภามา 



“ซานเหวยฝานฉวน”
三桅帆船
สำเภาจีน


“ชาวจีนโล้สำเภาเสื่อผืนหมอนใบ” ดูจะเป็นฉากชีวิตที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ แต่สำเภาจีนยังมีเรื่องน่าสนใจให้รู้อยู่ไม่น้อย ในฐานะพาหนะสำคัญในการค้าขายของไทยในสมัยอดีต และคนเรือชาวจีนทุกคน เรือสำเภาคือเรือที่มีสามเสาใบ (สาม = ซาน) ขนสินค้าจากเมืองจีน แลกเปลี่ยนสินค้าไทยกลับไปขาย แต่ที่คนไทยเรียกว่าเรือสำเภา เป็นเพราะเรือที่มาจากจีนมักเข้ามาประเทศไทยในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูลมตะเภา คนไทยจึงเรียกเรือตะเภา และเรือสำเภาในที่สุด 

ข้าวนับเป็นอีกสินค้าสำคัญที่ถูกส่งไปทางเรือสำเภาเพื่อค้าขาย แม้ในยุคหลังจะมีเรือกลไฟและเรือกำปั้นฝรั่งที่วิ่งได้ไวกว่า จุได้มากกว่า แต่บางเมืองท่าในจีนยังต้องรับเฉพาะเรือสำเภาเท่านั้น ในยุคหนึ่ง ราว ๆ รัชกาลที่ 4 เราเคยทำเรือ ‘กำปั่นบ๊วย’ ที่มีหัวและท้ายเหมือนเรือสำเภาเพื่อให้เมืองท่าจีนต้อนรับอย่างเคย



“ล้ง”

โกดัง

ก่อนที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเมืองบางกอกจะเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์กเล็กใหญ่ ในอดีตเราจะได้เห็นล้ง โรงสี และไซโลข้าวตั้งกิจการอยู่ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะคือจุดพักเก็บสินค้า จุดแปรรูป และจุดส่งไปจำหน่าย ล้งจึงเป็นอีกสถานที่ที่รวมฉากและชีวิตของผู้คนมากมาย ตั้งแต่จับกังแบกข้าวสารไปจนถึงเถ้าแก่ผู้จัดการโรงสี ว่ากันว่าในยุครุ่งเรืองของเจ้าสัวโรงสีสมัยรัชกาลที่ 5 เรามีชาวจีนอยู่ในการค้าขายข้าวหลักแสนคน ครั้งหนึ่งที่จับกังชาวจีนจับมือหยุดงานประท้วงกฎหมายสยาม เล่นเอาเถ้าแก่โรงสีได้รับผลกระทบหนักไปตาม ๆ กัน

ปัจจุบัน เราคงไม่จำเป็นต้องใช้คนงานมหาศาลในการแบกข้าวทีละกระสอบขึ้นเรือเหมือนในอดีต แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ ยังคงบอกเราถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของข้าวที่เรากิน



เรื่องที่น่าสนใจ

เพราะชีวิตมีเรื่องยาก ๆ เยอะแล้ว มาทำเรื่องหุงข้าวให้เป็นเรื่องง่าย ๆ กันดีกว่า

ชวนสงสัยว่าเรื่องข้าวมีอะไรมากกว่าที่เราเคยเคี้ยว

ข้าวจานนี้ เพื่อลูกน้อย ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ที่คุณแม่กิน ส่งต่ออะไรให้เจ้าตัวน้อยในท้องบ้าง?

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ไหน?

​ข้าวอินทรีย์ที่ผมปลูก ผมเก็บไว้กินเองทุกวัน เพราะมันอร่อยที่สุด