Responsive image Responsive image

ถ้ากินข้าวไม่หมด ทำไมแม่โพสพต้องร้องไห้?

21 มีนาคม 2562


ถ้ากินข้าวไม่หมด ทำไมแม่โพสพต้องร้องไห้?
เข้าใจความเชื่อเรื่องแม่โพสพที่เชื่อมโยงกับจานข้าวและเราคนกิน

 

“อย่ากินข้าวเหลือ เดี๋ยวแม่โพสพร้องไห้”
ถึงไม่ค่อยรู้เรื่องแม่โพสพเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำสั่งสอนนี้จากผู้ใหญ่ เป็นร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับ ‘แม่โพสพ’ ที่หลงเหลือตกทอดมาจนปัจจุบัน แม้วันนี้บ้านเราจะอยู่ห่างไกลท้องนา แต่การรู้จักความเชื่อที่เชื่อมโยงกับข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย ก็จะช่วยให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างข้าวกับสังคมและตัวเราดีกว่าเดิม
 
ไปทำความรู้จักแม่โพสพที่ไม่อยากให้เรากินข้าวเหลือกันเถอะ  


 
แม่โพสพเป็นใคร
แม่โพสพคือ ‘เทพี’ ผู้คอยปกปักรักษาข้าว พืชศักดิ์สิทธิ์ในสังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาหารสำคัญที่สัมพันธ์กับชีวิตคนไทยมายาวนานไม่น้อยกว่า 5,000 ปี อาจารย์วรรณา นาวิกมูล เล่าไว้ในบทความ ‘แกะรอยแม่โพสพ’ ว่า แม่โพสพเป็นบุคลาธิษฐาน (personification) ที่สร้างเพื่ออธิบายปรากฏการณ์และช่วยให้คนเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ พูดง่าย ๆ ว่าให้คนได้รับรู้ถึงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและเคารพด้วยการร่วมกันดูแลรักษา ไม่ทำสิ่งไม่ดี เพราะเชื่อว่าจะเป็นการลบหลู่และทำลายจิตวิญญาณของธรรมชาตินั่นเอง 
 
ถามว่าทำไมผู้คอยปกป้องข้าวในนาต้องเป็นเพศหญิง เสถียรโกเศศ ปราชญ์คนสำคัญของไทยให้ความเห็นไว้ว่าพืชอย่างข้าวช่วยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตเติบโต ไม่ต่างจากแม่เลี้ยงดูลูก และไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ อีสาน กลาง หรือใต้ ก็ล้วนมีตำนานแม่โพสพเช่นเดียวกันในชื่อเรียกต่างกันไป  ไม่ว่าจะเป็น ‘โคสก’ ในอีสาน ‘ย่าขวัญข้าว’ ในไทลื้อ ‘มะฮียัง’ ในภาษามลายูปัตตานี หรือแม้แต่ ‘ภี่บือโหย่’ หรือ ‘ผีบือโย’ ในวัฒนธรรมปกาเกอะญอ


 
แม่โพสพหน้าตาเป็นยังไง 
แม่โพสพมีรูปร่างหน้าตาหลากหลายแบบ ฉันนะ วารมัน เขียนไว้ว่าในหนังสือ ‘ตำรับเครื่องรางของขลัง’ ว่าแม่โพสพเป็นหญิงไทยแบบโบราณ นุ่งผ้ายก ห่มผ้าสไบเฉียง ที่ศีรษะสวมกระบังหน้า มือขวาถือรวงข้าว นั่งอยู่บนเตียงตั่ง แต่ในบางพื้นที่ก็ใช้กอข้าวเป็นตัวแทนของแม่โพสพ หรือในบางรูปร่าง เราอาจได้เห็นแม่โพสพมีพาหนะเป็นปลากรายทองหรือปลาสำเภาก็ได้
 
ในต่างเมือง ต่างวัฒนธรรม ก็มีแม่โพสพเป็นของตนเองเช่นกัน ‘นางโคสบ’ ในลาว ‘เทวีศรี’ ของชวาและบาหลี และ ‘โปอิโนนอร์กา’ ของกัมพูชาและเวียดนามก็มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับแม่โพสพของไทย ส่วน ‘เทพีดีมิเตอร์’ และ ‘เทพีเซเรส’ ของโรมัน คือเทพีผู้ปกปักรักษาพืชผลโดยมีรวงข้าวโพดถืออยู่ในมือ 


 
เราปฏิบัติต่อแม่โพสพแบบไหน  
เมื่อแม่โพสพมีฐานะเป็นเทพีคุ้มครองข้าวซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทย เราจึงให้ความเคารพและดูแลเอาใจใส่แม่โพสพไม่ต่างจากแม่ตัวเอง โดยแสดงความเคารพและกตัญญูผ่านนานาพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับข้าวและการทำนา ไม่ว่าจะเป็นพิธีอัญเชิญแม่โพสพเมื่อถึงเวลาหว่านเมล็ดข้าว พิธีรับขวัญแม่โพสพเมื่อข้าวตั้งท้อง จนถึงพิธีสู่ขวัญข้าวหลังนวดข้าวเสร็จเพื่อขอขมาแม่โพสพที่ได้ล่วงเกิน 

หากมองในสายตาคนรุ่นใหม่ นี่อาจเป็นพิธีกรรมคร่ำครึไม่มีเหตุผล แต่หากมองในแง่ของวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่สังคมในอดีตสร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต เพราะหากข้าวในนาไม่ได้ผลผลิตนั่นแปลว่าในปีนั้น ๆ ผู้คนจะไม่มีข้าวกิน พิธีต่าง ๆ จึงเป็นทั้งการเรียกความเชื่อมั่น และสะท้อนถึงศรัทธาและความนอบน้อมต่อธรรมชาติ ในบางพื้นที่ นอกจากจะมีพิธีกรรม ยังมีชุดความเชื่อน่าสนใจในการจัดสรรปันข้าวหลังเก็บเกี่ยวว่าต้องแบ่งข้าวออกเป็น 3 กำ กำที่หนึ่งไว้ทำบุญ กำที่สองไว้ทำทาน และกำที่สามไว้ทำกิน ซึ่งสะท้อนถึงการพึ่งพาตนเองและการแบ่งปันที่มีอยู่ในท้องนามาแต่ดั้งเดิม



และในฐานะคนกิน แม้เราจะไม่ได้ทำพิธีบูชาแม่โพสพเหมือนชาวนา แต่ความเชื่อนี้ก็ผูกพันกับวิถีชีวิต เช่น การที่ผู้ใหญ่สั่งสอนลูกหลานว่าอย่ากินข้าวเหลือ ไม่อย่างนั้นแม่โพสพผู้ดูแลข้าวจะเสียใจ อย่าเหยียบเมล็ดข้าวที่ตกบนพื้น ไม่อย่างนั้นแม่โพสพจะโกรธ หรือคุณตาคุณยายที่ยังยกมื้อไหว้เหนือหัวหลังกินข้าวเพื่อบขอบคุณแม่โพสพที่ประทานข้าวมาให้ พิธีกรรมและความเชื่อเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าข้าวเป็นอาหารที่สำคัญต่อชีวิตคนไทยมากแค่ไหน 
และแม้ในวันที่เด็กรุ่นใหม่อาจไม่คุ้นเคยกับแม่โพสพเหมือนรุ่นปู่ย่า ความสำคัญของข้าวก็ยังคงอยู่ในชีวิตคนไทยเสมอ

______________
เรื่อง: ธารริน อดุลยานนท์
ภาพถ่าย: ศาลานา
ภาพประกอบ: Parinda 



เรื่องที่น่าสนใจ

ปีใหม่ ทำไมต้องกิน ‘ข้าวใหม่’?

เรื่องราวจีนปนไทยที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่เรากิน

ตาวิเศษเห็นนะ ว่าเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนี้เล่นมือถือมานานจนตาเริ่มล้า

ครั้งแรก! ของการเปิดเผยโฉมหน้าของชาวนาตัวจริง ใครอยากเห็นหน้าค่าตาและฟังเสียงพี่ ๆ ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์อร่อย ๆ ให้เรากิน เชิญทางนี้!

เพราะชีวิตมีเรื่องยาก ๆ เยอะแล้ว มาทำเรื่องหุงข้าวให้เป็นเรื่องง่าย ๆ กันดีกว่า