Responsive image Responsive image

ยังจำได้ไหม?

21 กันยายน 2564



ยังจำได้ไหม?
เรื่องดัก ‘เก๋า’ เกี่ยวกับข้าว ที่ยังหอมฉุยอยู่ในความทรงจำ


เมื่อย่างเข้าสู่วัยเก๋า เราอาจจะต้องยอมรับว่าไม่ได้มีความทรงจำฟิตปั๋งเหมือนสมัยยังหนุ่มยังสาว เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันก็ชักจะหลง ๆ ลืม ๆ แต่กับความทรงจำหอมหวานในวัยเยาว์ เชื่อว่าหลายคนยังจำได้แม่นยำราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน โดยเฉพาะความทรงจำที่มี ‘รสชาติ’

ข้าวตังกรอบ ๆ หอม ๆ จากก้นกระทะใบบัว ข้าวต้มร้อน ๆ ในเช้าที่เหน็บหนาว ข้าวสวยกับแตงโมในหน้าร้อน รสหวานมันสนุกสนานที่เด็ก ๆ ได้รวมกลุ่มกันโม่ข้าวสุกหยอดขนมครกเคล้ากะทิ ฯลฯ สารพัดความสุขรสหวานเกี่ยวกับข้าวยังติดอยู่ที่ปลายลิ้น เราจึงไปชวนสูงวัยคนเก๋าที่ยังจำรสชาติเหล่านี้ได้แม่นยำ มาแชร์ความทรงจำที่หลาย ๆ คนน่าจะมีประสบการณ์ร่วมกันไม่มากก็น้อย 

มาดูกันสิว่า ยังจำรสชาติหอมหวานเหล่านี้ได้ไหม 



“ของโปรดลุงคือข้าวหุงรวมกับหัวเผือกหัวมันคดจากหม้อร้อน ๆ มารู้ตอนโตว่าบ้านเราลูกเยอะ กินข้าวเปลือง แม่ต้องประหยัดหน่อย”
-ลุงมิตร วัย 65 ปี-


ลุงมิตรเล่าว่าที่โปรดปรานข้าวสวยหุงกับมันเทศที่แม่หุงให้กินตอนเด็ก ๆ เพราะติดใจสัมผัสหนึบหนับที่เข้ามาแทรกระหว่างข้าวสวยหอม ๆ ควันฉุย ยิ่งกินคู่กับน้ำพริกกะปิยิ่งช่วยตัดรสเผ็ดจัดจ้านให้พอกล้อมแกล้มแม้จะยังเด็กจนกินเผ็ดได้ไม่เก่งนัก บางคราวก็กินคู่กับปลาช่อนแห้งทอด นั่งล้อมวงกินแข่งกันในหมู่พี่ ๆ น้อง ๆ ความแน่นของหัวเผือกหัวมันรวมกับข้าว ชวนให้อิ่มแปล้พุงกางจนออกไปวิ่งซนไม่ไหว

จนโตขึ้นมาหน่อย ลุงมิตรจึงรู้ความจริงว่าเหตุผลที่แม่หั่นเผือก หั่นมันใส่ลงไปหุงกับข้าว จะเกิดขึ้นเมื่อข้าวสารใกล้หมดแล้วยังซื้อหามาเติมไม่ได้ แล้วยิ่งลุงมิตรมีพี่น้องวัยกำลังกินกำลังนอนตั้ง 5 คน ข้าวสารในถังก็ต้องพร่องไวเป็นธรรมดา แถมหัวมันเหล่านี้ก็ทำให้ทุกคนอิ่มนานแบบประหยัดเงิน ประหยัดข้าว เก็บไว้หุงได้อีกหลาย ๆ มื้อ 

แม่บ้านไหนเป็นสายประหยัดแบบแม่ลุงมิตรบ้าง จำรสชาติแน่นหนึบนี้ได้ไหม?



“ยุคข้าวยากหมากแพง เด็ก ๆ จะถูกวานให้ถือ ‘สำมะโนครัว’ ไปต่อแถวซื้อข้าวสาร เดินแบกกันจนตัวเอียงเชียวแหละ”
-ป้าติ๋ม วัย 63 ปี-


“หนูรู้จักไหม ‘สำมะโนครัว’ ใบโต ๆ ที่สมัยนี้เขาเรียกทะเบียนบ้านน่ะ แผ่นเท่าฝาบ้าน” ป้าติ๋มหัวเราะร่าเมื่อเล่าถึงทะเบียนบ้านยุคเก๋า ที่ป้าติ๋มและพี่ ๆ น้อง ๆ มักจะถูกผู้ใหญ่ในบ้านสั่งให้พกไปต่อแถวซื้อข้าวสารในยุคที่รัฐจำกัดการซื้อเพราะข้าวสารขาดแคลน

แม้ป้าติ๋มจะจำปีแม่น ๆ ไม่ได้ชัดเจน แต่เดาว่าน่าจะราว ๆ 50 ปีก่อนที่ป้าติ๋มยังเป็นเพียงเด็กประถมปลาย แต่ก็โตพอจะแบกถุงข้าวสารหลายกิโลไหวอยู่ ป้าติ๋มบอกว่าต้องเดินไปร้านค้าที่รัฐจัดสรรให้ ก็เจอเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน บางคนมากับแม่ บางคนมากับพี่ ทุกคนถือสำมะโนครัวแผ่นโตมาต่อแถวยาว ๆ ด้วยกันจนกว่าจะได้ข้าวสารกลับบ้านสักถุงไปให้แม่หุงให้ล้อมวงกินจนอิ่มหนำ 

ข้าวยากหมากแพงที่เขาพูดกัน มันยากประมาณไหน ใครพอจำได้บ้าง?   



“ตอนออกไข้ ยายเทน้ำข้าวมาให้ โรยเกลือกับน้ำตาล โอ้โห มันอร่อยจนตอนนี้ยังจำรสได้อยู่เลย”
-น้าจันทรา วัย 59 ปี-


นอกจากยาเขียวกวาดคอสามัญประจำบ้าน อีกยาขนานเอกของเด็กๆ รุ่นเดอะคงหนีไม่พ้นน้ำข้าวอุ่น ๆ ที่ได้มาการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ เป็นน้ำอุณหภูมิร้อนกำลังเหมาะที่จะบรรเทาอาการไข้ และเต็มไปด้วยรสหวานจากข้าว ใครไข้จนกินอะไรไม่ลง เจอน้ำข้าวหอม ๆ เข้าไปเมื่อไหร่เป็นต้องยกซดจนหมดชามเมื่อนั้น แล้วเมื่ออิ่มท้อง เริ่มมีแรง อาการไข้ก็ดูจะทุเลาตามไปด้วย

น้าจันทราเล่าว่าสูตรเด็ดเคล็ดลับของยาย คือการโรยเกลือและน้ำตาลน้อย ๆ ในปริมาณเค็มปะแล่ม หวานปลายลิ้น เป็นรสมือยายที่ให้ใครโรยให้ก็ไม่เหมือน และยังคงจดจำรสชาติในวันป่วยไข้นั้นได้ไม่ลืม 

คุณล่ะ ยังจำรสชาติอุ่นท้องที่เยียวยาใจตอนเด็กได้ไหม? 



ความทรงจำดี ๆ จะอยู่กับเราไปอีกนาน ๆ  
ด้วยแอนโทไซยานินจากข้าวสีเข้ม ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ 

21 กันยายนของทุกปีคือวันอัลไซเมอร์โลก วันที่ชวนเราทุกคนมาตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ และร่วมด้วยช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมจากพฤติกรรมการกินอยู่ ที่ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมลงจนเกิดอาการน่ากังวลมากมาย 

ซึ่งหนึ่งในวิถีการกินที่เราสามารถใช้ในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ คือการรับประทานอาหารให้ครบหมู่เพื่อดูแลซ่อมแซมร่างกายให้แข็งแรงในทุก ๆ วัน และเสริมพลังการปกป้องด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างแอนโทไซยานิน สารสีม่วงที่ได้จากผลไม้สีม่วงและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวสีเข้ม ช่วยดูแลเซลล์สมองไม่ให้ถูกทำลายได้เป็นอย่างดี

Antho-PLUS+ เครื่องดื่มชงร้อนจากข้าวอินทรีย์ ผสมแอนโทไซยานินจากข้าวสีเข้ม ขอเป็นอีกทางเลือกอุ่นท้อง อิ่มใจ พร้อมสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยดูแลความทรงจำรสหอมหวาน ให้ยังอยู่กับคุณไปได้อีกนาน ๆ 

สั่งซื้อแอนโทพลัสได้ที่ www.salanashop.com



เรื่องที่น่าสนใจ

ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ คือผู้ที่มีองค์ความรู้เข้มข้นด้านเกษตรกรรมยั่งยืนที่ทำงานเผยแพร่ความรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในภาคเหนือมายาวนานหลายสิบปี

เห็นหนุ่มน้อยจ้ำม่ำยิ้มเก่งที่ชื่อว่า Xzavier (เอ็กซ์ซาเวียร์) เป็นอันต้องกระซิบถามว่ามีเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกยังไง ปรากฏว่าคำตอบที่เราได้นั้นเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ทั้งนั้น

ในกาลก่อน “นาข้าว” เป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่ทำให้เราสามารถมีกิน มีใช้ ได้อย่างไม่รู้หมด ทว่าในยุคหลังไม่กี่สิบปีมานี้ การทำนาแบบดั้งเดิมเพื่อกิน เพื่อใช้ เริ่มหายไป ชาวบ้านต่างทำนาเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก ๆ

ข้าวศาลานา มาจากนาที่ไหน?