Responsive image Responsive image

ร้อยพ่อพันธุ์แม่

11 พฤษภาคม 2565

สายพันธุ์ข้าวไทย นับว่ามีความหลากหลายไม่แพ้กับชาติไหน ๆ ด้วยเพราะลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะกับการเติบโตของต้นข้าว จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นกว่าร้อยสายพันธุ์ ทั้งข้าวโบราณ ข้าวปลูกเฉพาะถิ่น ข้าวพันธุ์พิเศษ ฯลฯ ทว่าน่าเสียดาย ที่ทุกวันนี้ เราคนไทยกลับรู้จักข้าวที่ถูกปลูกเพื่อการค้าขายเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้น
 
เป้าหมายของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในไทย จึงไม่ใช่แค่ให้กำเนิดข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี ให้รสชาติดี ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ข้าวพันธุ์ดั้งเดิมให้อยู่กับผืนนาบ้านเราต่อไปด้วย นี่คือสิ่งที่นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวในบ้านเราลงมือทำ และสานต่อกันมากว่าร้อยปี ซึ่งผลผลิตที่เกิดจากปณิธานที่ว่า ได้ถูกรวบรวมมาอยู่ในข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ของศาลานาด้วยเช่นกัน
 
มาดูกันว่า ความหอมอร่อยที่รวมอยู่ในข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ของศาลานา มีต้นกำเนิดเป็นข้าวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไหน และมีเบื้องหลังที่ผ่านขั้นตอนการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างไรมาบ้าง
 

 
#ทีมทายาทพันธุ์แท้
ข้าวหอมมะลิ 105
ข้าวหอมพันธุ์ดั้งเดิมของไทย มีกลิ่นหอม นุ่ม ทั้งตอนหุงสุกใหม่และเย็น

 
ข้าวหอมมะลิ 105 มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ภาคกลางของไทย ที่ได้ชื่อว่าพันธุ์หอมมะลิ ก็เพราะเอกลักษณ์ดั้งเดิมอย่างกลิ่นหอมฟุ้งคล้ายใบเตย ปลูกที่ไหนก็ไม่หอมและคุณภาพดีเท่าปลูกในนาบ้านเรา ไม่แปลกเลยที่ข้าวหอมมะลิไทย กลายเป็นสินค้าส่งออกที่คนทั่วโลกรู้จัก และที่มีตัวเลข 105 กำกับไว้ด้านหลัง เป็นเพราะขั้นตอนการรับรองสายพันธุ์ข้าวในปี 2502 นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวได้เก็บข้าวรวงที่ 105 จากแปลงปลูกมาให้คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ทำการรับรองนั่นเอง
 
ข้าวมะลินิลสุรินทร์
ต้นทุนการปลูกต่ำ จำนวนเมล็ดต่อรวงเยอะ มีโปรตีนและสารต้านอนุมูลอิสระสูง

 
ข้าวสีเข้มสายพันธุ์นี้เกิดจากการร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาพันธุ์ข้าวในหลาย ๆ พื้นที่ของภาคอีสาน ได้ทำการ คัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ จากข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณสมบัติไวต่อช่วงแสง พันธุ์มะลิดำ SRN03053 ที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากจังหวัดสุรินทร์ มีจุดเด่นคือฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง แม้จะใช้ปัจจัยในการปลูกต่ำทว่าให้ผลผลิตต่อรวงเยอะ จึงเหมาะกับการส่งเสริมให้ปลูกบนพื้นที่นาอินทรีย์ และได้รับการรับรองสายพันธุ์จากกรมการข้าวเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา
 
การคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ เป็นการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ผสมตัวเอง (ผสมเกสรในต้นเดียวกันได้) เริ่มจากการปลูกเป็นต้นหรือแถว คัดเลือกต้นลักษณะไม่ดีทิ้ง เก็บต้นที่ดีไว้ปลูกต่อ ทำซ้ำ ๆ หลายเจเนอเรชัน (สำหรับข้าวมะลินิลสุรินทร์มีการปลูกซ้ำ 2 ครั้ง) จนได้พันธุ์แท้เพียงพันธุ์เดียว ลูกหลานที่ได้มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนพันธุ์บรรพบุรุษทุกประการ ข้าวมะลินิลสุรินทร์จึงมีคุณค่าโภชนาการสูงเหมือนพันธุ์แม่ทุกประการเดียวเช่นกัน
 
#ทีมกลายพันธุ์
ข้าวหอมมะลิแดง
ต้านทานโรคและแมลงดี เหมาะปลูกแบบอินทรีย์ ให้กลิ่นหอมเหมือนพันธุ์แม่

 
แม้ว่าข้าวหอมมะลิ 105 จะได้รับการรับรองสายพันธุ์ นักพัฒนาข้าวยังคงมีการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์เสมอ ๆ เพื่ออนุรักษ์ลักษณะดั้งเดิมของข้าวไว้ ทว่าการตรวจสอบในปี 2525 สถานีทดลองข้าวสุรินทร์พบว่า ในรวงข้าวหอมมะลิ 105 จำนวนหนึ่ง มีเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียวปนอยู่ด้วย จากนั้นก็นำไปปลูกต่อจนพบว่า มีข้าวก่อหนึ่งมีเยื่อหุ้มสีแดงเรื่อ ๆ มีข้าวเหนียวและข้าวเจ้าปะปนกันไป
 
ทีมนักพัฒนาข้าวเชื่อว่า ข้าวที่ได้เกิดจากการ กลายพันธุ์ทางธรรมชาติของข้าวหอมมะลิ 105 จึงได้คัดเลือดเมล็ดข้าวเจ้าไปปลูกและคัดเลือกพันธุ์ต่อ แถมยังพบว่าข้าวกลายพันธุ์ชนิดนี้ต้านทานโรค และเพลี้ยกระโดดได้ดี เมื่อนำมาหุงสุกยังให้กลิ่นหอมเหมือนข้าวหอมมะลิ 105 เยื่อหุ้มสีแดงยังอุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ในปี 2538 กรมการข้าวจึงได้เสนอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ให้ข้าวหอมมะลิแดงเป็นข้าวที่เกษตรกรทั่วไปสามารถเพาะปลูกได้
 
#ทีมลูกผสม
ข้าวหอมปทุมธานี 1
ปลูกได้ทุกฤดู ต้านทานโรคและแมลง หอมนุ่มคล้ายข้าวหอมมะลิ

 
ข้าวหอมปทุมธานี 1 เป็นข้าวที่เกิดจากการคิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เพื่อค้นหาข้าวสายพันธุ์หลักที่เหมาะกับการปลูกในนาอินทรีย์ และปลูกได้ในฤดูนาปรัง นักพัฒนาพันธุ์ข้าวได้หยิบ ข้าวสายพันธุ์ BKNA6-18-3-2 (พันธุ์แม่) มาผสมกับ พันธุ์ PTT8506-3-2-1 (พันธุ์พ่อ) จนได้พันธุ์ข้าวที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี (ไม่ไวต่อช่วงแสง) และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ปลูกได้ในหลาย ๆ พื้นที่ ต้านทานเพลี้ยกระโดดและโรคใบไหม้ได้ดี เหมาะกับการปลูกในนาปลอดสารเคมี แถมลักษณ์ของเมล็ดข้าวเจ้าที่ได้ยังเหนียวนุ่ม และหอมคล้ายข้าวหอมมะลิอีกด้วย
 
ข้าว กข 43
อายุการเก็บเกี่ยวสั้น มีดัชนีน้ำตาลต่ำ กลิ่นหอมอ่อน ๆ สัมผัสนุ่ม รับประทานง่าย

 
ลักษณะของผืนนาชลประทานในภาคกลางที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน (มีเวลาปลูกข้าวน้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ) ไม่เหมาะกับการปลูกข้าวสายพันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตนาน ๆ หนึ่งในข้าวที่เกษตรกรแถบนี้นิยมปลูกคือข้าว กข 43 ข้าวขาวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำและหอมนุ่ม ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง พันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี (พันธุ์แม่) กับ พันธุ์สุพรรณบุรี1 (พันธุ์พ่อ) ผลงานที่น่าภูมิใจของศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี
 
นอกจากจะเพาะปลูกได้ทุกฤดู และมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 95 วันแล้ว ข้าว กข 43 ยังปลูกบนพื้นที่ที่มีการระบาดของวัชพืชได้ดี ต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยได้ ซึ่งแน่นอนว่า เหมาะกับการปลูกแบบอินทรีย์ไม่แพ้สายพันธุ์อื่น ๆ เลย
 
มาช่วยกันรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวไทย ด้วยการกินข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ผลผลิตจากนาอินทรีย์ของศาลานา
 
อุดหนุนข้าวอินทรีย์จากศาลานาได้ที่ www.salanashop.com
สมัครสมาชิก SALANA Member เพื่อรับสิทธิพิเศษได้ทาง Line: @salana หรือลิงก์ https://bit.ly/3cKp4Gj



เรื่องที่น่าสนใจ

“มอด” นับว่าเป็นศัตรูของคนหุงข้าวกินเอง โดยเฉพาะเวลาซื้อข้าวอินทรีย์มาทีไร ไม่เคยกินข้าวทันเจ้ามอดสักที แต่รู้ไหม ว่าจริง ๆ แล้ว การที่ข้าวสารของคุณมีมอดมาเยือน นั่นถือเป็นสัญญาณที่ดีนะ

ครั้งแรก! ของการเปิดเผยโฉมหน้าของชาวนาตัวจริง ใครอยากเห็นหน้าค่าตาและฟังเสียงพี่ ๆ ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์อร่อย ๆ ให้เรากิน เชิญทางนี้!

ปลูกข้าวดี แล้วต้องไปสีที่ไหน?

ข้าวมะลินิลสุรินทร์นั้นดีต่อใจ! ผู้พิทักษ์จากธรรมชาติ ให้หัวใจแข็งแรง

ตาล้า ตาพร่า ดูแลสายตาด้วยแอนโทไซยานิน