Responsive image Responsive image

ผู้บริโภคอย่างเรา มีพลังแค่ไหนในการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์?

7 มิถุนายน 2565

เพราะเป็นคนสุดท้ายในเส้นทางการซื้อขาย กว่าที่ผลผลิตแต่ละอย่างจะมาอยู่ตรงหน้าให้ผู้บริโภคอย่างเราเลือกซื้อ ก็ผ่านกระบวนการมายาวเหยียด ตั้งแต่การเพาะปลูก การดูแลบำรุง การเก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการจัดจำหน่าย หลาย ๆ ครั้ง ผู้บริโภคจึงคิดว่าตัวเองเป็นเพียงปลายน้ำ ที่ทำได้แค่เลือกซื้อหาเท่าที่พึงพอใจในราคาและคุณภาพ ไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจต่อรองเพียงพอจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการได้ขนาดนั้น
 
ในภาพรวมของตลาด ไม่แปลกที่ผู้บริโภคอาจจะรู้สึกอย่างนั้น แต่ในวิถีอินทรีย์ ผู้บริโภคคือ “บุคคลสำคัญ” ที่มีพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง!
 

 
เพราะหากได้ลองไปจับเข่าคุยกับเกษตรกรอินทรีย์ ผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ อย่างเรานี่แหละคือความหวังของการเปลี่ยน “แปลง” จากเกษตรกรที่เคยให้ทางลัดที่ง่าย และสะดวกกว่าในการการันตีผลผลิตผ่านปุ๋ยยาเคมี ต้องมาสู้กับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน พยายามคืนความอุดมสมบูรณ์ในดินผ่านการบำรุงด้วยวิถีธรรมชาติ เฝ้ารอการสร้างสมดุลในระบบนิเวศที่เคยพังไปให้พลิกฟื้น หรือแม้กระทั่งการประคบประหงมให้ผลผลิตเติบโตออกผล ล้วนต้องอาศัยแรงกาย แรงใจ อย่างมาก ลงต้นทุนเวลาไปไม่รู้เท่าไร หากปลายทางไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนรอกิน ความทุ่มเททั้งหมดก็แทบจะไม่มีค่าเลย
 


“ผมอยากให้ผู้บริโภคลองเปลี่ยนคำถามดู เวลาไปตลาด ถ้าคุณถามหาถั่วงอกขาว ๆ หน่อไม้ขาว ๆ แม่ค้าก็จะกลับมาบอกให้เกษตรกรใส่น้ำยาฟอกขาวก่อนส่งมาขาย คุณอาจจะได้ถั่วงอกขาว ๆ จริง แต่คุณจะได้สารพิษมาด้วย” ชาวนาอินทรีย์ชวนเราคุยแล้วยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจว่าคำถามเล็ก ๆ จากผู้บริโภคนั้นแสนสำคัญ และส่งผลต่อวิถีการกินในภาพใหญ่อย่างไร
 
แล้วถ้าเราเปลี่ยนเป็นถามว่า “ผักนี้ปลอดภัยไหม ข้าวนี้ฉีดยามาหรือเปล่า” เมื่อพ่อค้าแม่ขายเห็นว่าคนซื้ออยากได้อะไร ก็จะมาชวนเกษตรกรทำอย่างที่ลูกค้าอยากได้ การเปลี่ยนแปลงในเชิงภาพรวมที่เราจะมีผักผลไม้ปลอดสารพิษ หรือข้าวที่ปลอดเคมีมากขึ้นในตลาดก็เป็นได้
 

 
และในฐานะผู้บริโภคอินทรีย์ “รุ่นบุกเบิก” ที่อาจจะยังมีแนวร่วมไม่มากเพียงพอในการสร้างการเปลี่ยนแปลงปุบปับ เราอาจจะรู้สึกว่าทำไมผลผลิตอินทรีย์ราคาสูงกว่า ทำไมหาซื้อยาก ไม่สะดวกสบายมากเท่าผลผลิตทั่วไป ฯลฯ แต่ถ้ามองว่า การอุดหนุนของเรา คือ “เสียง” ที่ส่งไปให้เกษตรกรอินทรีย์ได้ยิน ว่าเราเข้าใจและเคารพความมุ่งมั่นตั้งใจผลิตอาหารปลอดภัยให้เรากิน เราพร้อมสนับสนุนให้เขาเปลี่ยนแปลง และเราอยากให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นเช่นเดียวกัน เกษตรกรก็จะมีกำลังใจ และค่อย ๆ ขยายกำลังใจสู่เกษตรกรคน ๆ อื่น เมื่อถึงตอนนั้น การเข้าถึงผลผลิตอินทรีย์อาจจะสะดวกสบายขึ้น ราคาถูกลง และกลายเป็นกระแสหลักมากกว่าทางเลือกเล็ก ๆ อย่างทุกวันนี้
 
อย่ามองข้ามพลังที่ผู้บริโภคอย่างเรามี แล้วมาขับเคลื่อนผ่านการเลือกกินไปด้วยกัน

เลือกข้าวอินทรีย์ ไร้สารเคมีทุกขั้นตอนการผลิต ได้ที่ www.salanashop.com



เรื่องที่น่าสนใจ

กินข้าว 5 สายพันธุ์ ดีกว่ากินข้าวพันธุ์เดียวอย่างไร?

ทั้งที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ ๆ แต่ยังเหมือนมีช่องว่างระหว่างกัน ไม่รู้จะคุยอะไรด้วยดี เรามีกิจกรรมกระชับมิตรระหว่าง ปู่ย่าตายาย-พ่อแม่-ลูกหลาน มาแนะนำให้!

ประเพณีเก่าที่หายไปจากคลองนกกระทุง 60 ปี

ฉลากที่บอกว่า ‘หวานน้อย’ แปลว่าอะไรกันแน่

ชาวนาไทยได้อะไร? เมื่อปลูกข้าวให้ศาลานา