Responsive image Responsive image

ประเพณีเกี่ยว (กับ) ข้าวใหม่

15 มกราคม 2563



ประเพณีเกี่ยว (กับ) ข้าวใหม่

กว่าที่ตอนสุดท้าย ข้าวร้อน ๆ ในจานตรงหน้าจะถูกจัดการจนคนกินอิ่มแปล้ เส้นทางของข้าวมีเรื่องราวมากมาย ทั้งดิน น้ำ อากาศ แรงกายแรงใจของเกษตรกร ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ และความศรัทธาที่ผู้คนมีต่อข้าว ผืนนา และเทพผู้ปกปักรักษา ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องราวมีค่าที่ทำให้ข้าวแต่ละคำ เป็นมากกว่าอาหารอิ่มท้อง เพราะมีวิถีชีวิตของผู้คน ความเคารพนบน้อมต่อธรรมชาติ และความรื่นเริงยินดีในช่วงเวลาเก็บเกี่ยวความสุขในรอบปี



1. พิธีแรกเกี่ยวข้าว

เมื่อได้เวลาข้าวสุกพร้อมเกี่ยว เจ้าของนาจะต้องหาวันดีเพื่อทำพิธีแรกเกี่ยวเสียก่อนที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวทั้งผืนนา และเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวไว้เป็นข้าวขวัญ ซึ่งก็คือข้าวมงคลที่ใช้ประกอบในพิธีสู่ขวัญ และเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่ในพานใบตองที่เราเรียกว่าบายศรี (และคิดว่าบายศรีคือเครื่องใบตองนั้น) อันที่จริง คำว่าบาย ภาษาเขมรแปลว่า ข้าว ส่วน ศรี คือสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรือง ใจความสำคัญของบายศรีจึงไม่ใช่พานใบตอง และคือข้าวมงคลที่บรรจุอยู่ต่างหาก  

โดยพิธีจะเริ่มด้วยการปลงข้าวขออนุญาตแม่โพสพว่าจะเก็บเกี่ยว และบนบานให้ได้ผลผลิตดี แม่โพสพปกป้องให้ไม่เกิดอันตรายระหว่างการเก็บเกี่ยวด้วย และเมื่อเกี่ยวข้าวขึ้นลอมเรียบร้อย จะต้องมีพิธีปลงข้าวที่นิยมทำในวันอังคารหรือวันพฤหัสบดี ก่อนจะนวดข้าวต่อไป



2. พิธีสู่ขวัญข้าว

เพราะเชื่อว่าแม่โพสพช่วยปกปักรักษาข้าวให้เติบโต จึงเกิดพิธีแห่งความศรัทธาในการเรียกขวัญแม่โพสพสู่นา ในโบราณ พิธีสู่ขวัญหรือทำขวัญข้าวจะทำทั้งหมด 4 ช่วงเวลา นั่นคือตอนลงมือไถหว่านครั้งแรก ตอนข้าวเริ่มตั้งท้อง ตอนเก็บเกี่ยวขนข้าวขึ้นลาน และตอนขนข้าวเข้ายุ้งฉาง เพื่อเป็นการบอกกล่าวแม่โพสพเพื่อเรียกขวัญแม่โพสพในช่วงแรกหว่าน เรียกขวัญในยามตั้งท้อง เรียกขวัญที่ตกหล่นในตอนนวดข้าว และอัญเชิญขวัญข้าวมาสู่ยุ้งฉาง ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราจะเห็นคู่กันเสมอในพิธีสู่ขวัญคือพานบายศรี ไก่ต้ม เหล้า ข้าวเหนียว ข้าวตอกดอกไม้ ชุดหมากพลู บางพื้นที่มีข้าวของที่ผู้หญิงชอบ เช่น แป้งผัดหน้าหรือสีผึ้งทาปากด้วย  ซึ่งเจ้าของนาบางแห่งจะกล่าวคำสังเวยเอง แต่ในบางบ้าน อาจขอให้ปู่จารย์ของชุมชนมาทำพิธีให้

ในพิธีทําขวัญข้าวในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเหนือ ใต้ กลาง หรืออีสาน ต้องมีการร้องหรือสวดบททำขวัญข้าว ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชิญขวัญแม่โพสพด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและเป็นมงคล ยังถือเป็นบันทึกความรู้ท้องถิ่นเพราะมักจะมีส่วนที่บอกเล่าถึงกระบวนการทำนาและชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกด้วย



3. บุญคูณลาน

ส่วนในภาคอีสาน การสู่ขวัญข้าวจะจัดขึ้้นในงานบุญเดือนยี่ที่เรียกว่า ‘บุญคูณลาน’ ซึ่งเป็นวันขนข้าวขึ้นเล้า โดยเริ่มจากทำพิธีย้ายแม่โพสพออกจากลาน โดยนำใบคูณ ใบยอ ยาสูบ หมาก ไข่ ดอกไม้ ธูปเทียนใส่ก่องข้าวหรือกระติ๊บ ไปวางหน้าลอมข้าวพร้อมน้ำและเขาควาย ให้เจ้าของนาตั้งอธิษฐานและดึงข้าวที่ฐานออกมานวด จากนั้นนำฟางมาหุ้มก่องข้าว ปักตาแหลวจากนา แล้วปักไว้บนลอมข้าว จากนั้นก็นวดข้าวทั้งกองและประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้ข้าวที่นวดเสร็จแล้ว มีต้นกล้วย ต้นอ้อย ตาแหลวปักข้างกองข้าวทั้งสี่มุม พันรอบด้วยสายสิญจน์ นิมนต์พระมาร่วมทำบุญพร้อมกับญาติพี่น้อง และเมื่อจะขนข้าวขึ้นเล้า ต้องนำใบคูณและใบยอไปเสียบที่เสายุ้งข้าวทุกเสาด้วย เพื่อขอให้ค้ำคูณยอยิ่งขึ้นไป พร้อมกับเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปในเล้าด้วย 



4. ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก

อีกงานบุญที่สะท้อนการทำบุญทำทานในวิถีชาวนา คือประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกหรือบุญข้าวเปลือกของชุมชนที่สืบทอดกันมายาวนาน หากเราเคยได้ยินประเพณีขนทรายเข้าวัด ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกก็อยู่ในแนวคิดเดียวกัน โดยชาวนาจะนำข้าวเปลือกที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใส่ในกระบุงแล้วมาร่วมกันก่อเป็นกองเจดีย์เพื่อทำบุญถวายให้กับวัด ตามธรรมเนียมว่าชาวนาจะปลูกข้าวเพื่อไว้ ‘ทำกิน ทำบุญ และทำทาน’ ทำกินก็คือการปลูกกิน เหลือกินก็นำไปขายเพื่อนำเงินมาจับจ่าย ส่วน ทำบุญก็คือการถวายวัด (แต่หากเมื่อถึงหน้าแล้งข้าวหมดก็ยังกลับมาขอปันที่วัดได้ ส่วนทำทาน ก็คือการแบ่งปันให้กับคนยากจนเป็นน้ำใจ) ประเพณีนี้จึงไม่เพียงเป็นงานบุญของชุมชนที่ครึกครื้น แต่ยังเป็นวิถีที่ทำให้เราเข้าใจแนวคิดในการอยู่ร่วมกันด้วย



5. ประเพณีตานข้าวใหม่

ช่วงต้นปีในเดือนมกราคม ชาวบ้านในภาคเหนือที่ยังมีอาชีพทำนาจะนำข้าวใหม่ ทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และขนมพื้นบ้านต่างๆ นานาที่ทำจากข้าวใหม่ ทั้งข้าวจี่ ข้าวหลาม ขนมจ๊อก ข้าวเม่า ข้าวต้มมกะทิ ข้าวต้มใบอ้อย ฯลฯ ไปทำบุญ ใน ‘ประเพณีตานข้าวใหม่’ โดยจะนำอาหารจากข้าวใหม่ไปถวายพระพร้อมกับกับข้าวมากมาย และถือโอกาส ตานขันข้าว ถวายอาหารเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วด้วย

อีกหนึ่งพิธีในประเพณีนี้คือ ตานข้าวล้นบาตร ที่ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกและข้าวสารมาเทใส่บาตรจนเต็มล้น บาตรข้าวเปลือกเรียกว่า เงินคำ ส่วนบาตรข้าวสารเรียกว่าเงินดอย ถือเป็นข้าวที่ถวายให้พระสงฆ์และสามเณรได้หุงหาเวลาที่ออกไปบิณฑบาตไม่ได้ ไปจนถึงเอื้อเฟื้อให้คนยากไร้ด้วยวิถีแบบชุมชนดั้งเดิมที่แบ่งปันแก่กันเสมอ



เรื่องที่น่าสนใจ

มาตรฐาน Salana PGS ข้างถุงข้าว บอกอะไรเราบ้าง?

Rice O’ Clock เมนูข้าว ๆ เช้ายันเย็น ของคนกินข้าวสีเข้ม

ข้าวมะลินิลสุรินทร์นั้นดีต่อใจ! ผู้พิทักษ์จากธรรมชาติ ให้หัวใจแข็งแรง

เอาหูไปนา เอาตาไปดูโรงสีข้าว (ชุมชน)

ทำไมอำนาจในการตัดสินใจ ‘เลือก’ กินข้าว ต้องอยู่ในมือประชาชน