Responsive image Responsive image

เดชา ศิริภัทร l ปราชญ์ในนาข้าว ผู้เป็นครูของชาวนาอินทรีย์

22 สิงหาคม 2562



รู้จักชีวิตและผลงานเปี่ยมคุณค่าของประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หนึ่งในที่ปรึกษาโครงการศาลานา

ถ้าพูดถึงเรื่องผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวและการทำนา เราเชื่อว่าชื่อของ เดชา ศิริภัทร หรืออาจารย์เดชาจะติดโผขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ในฐานะนักเคลื่อนไหวผู้บุกเบิกเกษตรกรรมยั่งยืนให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ทั้งยังเป็นผู้รู้ลึกและทำจริงเรื่องการพัฒนาข้าวและคุณภาพชีวิตกระดูกสันหลังของบ้านเรา

ปราชญ์ชาวนาผู้นี้เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกข้าวสำคัญของไทย ครอบครัวก็มีอาชีพให้เช่าที่นาและทำโรงสี แม้ช่วงต้นของชีวิตจะไปร่ำเรียนหนังสือและรับราชการในกรมปศุสัตว์ แต่ความตั้งใจที่จะทำงานอย่างไม่เบียดเบียนใครและสร้างประโยชน์ให้สังคมทำให้อาจารย์สนใจงานวิทยากรสอนชาวบ้านเลี้ยงปลาในนาข้าวเพื่อให้ช่วยกินแมลง ซึ่งเป็นวิธีทำนาที่ไม่ต้องใช้สารเคมี หลังจากทำงานนี้ในภาคอีสานอยู่หลายปี อาจารย์ก็คิดถึงบ้านเกิดอีกครั้ง เพราะชาวนาสุพรรณยังอยู่ในวังวนปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีและมีหนี้สินมากมาย จึงตัดสินใจตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเป็น ‘มูลนิธิข้าวขวัญ’ ใน พ.ศ. 2541 

ปัญหาหลักของชาวนาเมืองสุพรรณคือ ชาวนาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านด้วยวิธีทำนาดั้งเดิมมาปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่ปลูกได้ปีละหลายหน ให้ผลผลิตสูง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาสารเคมีนานาชนิด ทำให้มีต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงเพราะสารเคมีทำให้โรคแมลงดื้อยามากขึ้น ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็จะได้ข้าวคุณภาพไม่ดีและราคาตก สุดท้ายก็ขาดทุน มีหนี้สิน ต้องขายหรือโดนยึดที่นา ลูกหลานไม่ทำต่อ รวมถึงพอใช้สารเคมี ชาวนาก็ไม่กินข้าวที่ปลูกเองทำให้พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ทั้งยังเจ็บป่วยจากการทำงานที่อุดมด้วยสารเคมี อาจารย์เดชามองว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะถ้าปล่อยให้วงจรนี้ดำเนินต่อไป อาชีพชาวนาจะอยู่รอดไม่ได้ ส่งผลให้ความมั่นคงทางอาหารและวัฒนธรรมซึ่งหลอมรวมอยู่ในต้นข้าวและผืนนาหายไปพร้อมกัน 

มูลนิธิข้าวขวัญของอาจาร์เดชาเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าไปแก้ปัญหานี้ด้วยการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว นำจุดดีของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและพันธุ์ข้าวสมัยใหม่มารวมกันจนได้ข้าวที่ทนโรค ให้ผลผลิตดี ให้รสชาติดี ดูแลง่าย และปลูกได้ทั้งปี นอกจากนี้ ยังวิจัยและพัฒนาเรื่องผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการทำเกษตร รวมถึงพัฒนาระบบการปลูกข้าวที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีซึ่งช่วยให้ต้นทุนต่ำ ผลคือชาวนาที่ไม่ใช้สารเคมีมีโอกาสอยู่รอดมากกว่าชาวนาเคมีที่ต้นทุนสูง 

นอกจากค้นหาและพัฒนาองค์ความรู้ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น มูลนิธิยังมุ่งมั่นเผยแพร่ความรู้นี้ออกไป มีการก่อตั้งโรงเรียนชาวนาที่มุ่งส่งต่อองค์ความรู้เชิงลึกให้เกษตรกรที่มีความพร้อม ซึ่งหลังจากนำความรู้นี้ไปมอบให้ก็มีชาวนาที่นำความรู้ไปปรับใช้จนเห็นผลสำเร็จ เช่น ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาลูกศิษย์มูลนิธิข้าวขวัญที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาทำนาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในปีพ.ศ. 2538 หรือชาวนารุ่นใหม่อย่างณรงค์ กลิ่นถือศีล ภาคีเลือดใหม่ของโครงการศาลานาที่ทำนาและขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม



นอกเหนือจากการส่งต่อองค์ความรู้ผ่านมูลนิธิข้าวขวัญ อาจารย์เดชายังมีบทบาทสำคัญในโครงการศาลานา ทั้งการเป็นที่ปรึกษาหลักของโครงการ ร่วมประชุมวิชาการและพัฒนาข้อมูลหลักสูตรศาลานาเพื่อสร้างเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในวิทยากรอบรมคนสำคัญที่ให้ทั้งวิธีคิด แรงบันดาลใจ และวิธีทำที่ผ่านประสบการณ์หลายสิบปี และในฝากฝั่งงานวิจัยและพัฒนา อาจารย์เดชาก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาพันธุ์ข้าวในโครงการศาลานา เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในอนาคต

“มูลนิธิข้าวขวัญและศาลานามีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องข้าว เมื่อเรามาร่วมมือกัน เราก็สามารถขยายผลที่ทำมา 30 กว่าปีได้อีกมาก เราใช้เวลาไปแล้ว ตอนนี้มาใช้การจัดการที่ดีทำให้เกิดผล เสริมส่วนที่ขาดให้กันและกัน ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้มาต่อกันได้สนิท เพราะต่างคนต่างทำมันไปไม่ได้ไกลหรอก ต้องร่วมมือกัน พัฒนาไปด้วยกัน”

อาจารย์เดชาเล่าถึงการทำงานร่วมกับศาลานาในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำที่ให้ความสำคัญกับการทดลองและพัฒนาพันธุ์ข้าว การปลูก การดูแลรักษา การจัดการต้นทุนให้น้อยลงแต่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เลยรวมไปถึงงานอบรมและส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน งานกลางน้ำ ที่มุ่งทำงานในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทย และปลายน้ำ คืองานสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจวิถีอินทรีย์เพื่อเกื้อหนุนเกษตรกรให้เป็นวงจรที่สมดุลและยั่งยืน เพราะหากไม่สามารถทำงานให้ครบวงจรได้ โอกาสที่ขับเคลื่อนไปโดยไม่ติดขัดย่อมเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานาน

อาจารย์เดชายืนยันว่า สิ่งที่กำลังก้าวไปด้วยกัน ไม่ใช่เพียงการพัฒนาเรื่องข้าวไทย แต่ยังหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สุขภาพของคนในชาติ และเรียกคืนศักดิ์ศรีของเกษตรกรไทยให้กลับคืนมาอีกครั้ง และนั่น คือเป้าหมายสำคัญของครูผู้เป็นปราชญ์คนนี้

____________________
เรื่อง : ธารริน อดุลยานนท์
ภาพ : ศาลานา
 



เรื่องที่น่าสนใจ

ผู้บริโภคอย่างเรา มีพลังแค่ไหนในการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์?

ทั้งที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ ๆ แต่ยังเหมือนมีช่องว่างระหว่างกัน ไม่รู้จะคุยอะไรด้วยดี เรามีกิจกรรมกระชับมิตรระหว่าง ปู่ย่าตายาย-พ่อแม่-ลูกหลาน มาแนะนำให้!

เป็นเบาหวานแล้วยังกิน ‘ข้าว’ ได้ไหม หรือต้องบอกลาคาร์บ งดแป้ง งดข้าวไปตลอดชีวิต?

ฉลากที่บอกว่า ‘หวานน้อย’ แปลว่าอะไรกันแน่

ข้าวมะลินิลสุรินทร์นั้นดีต่อใจ! ผู้พิทักษ์จากธรรมชาติ ให้หัวใจแข็งแรง