ทำไม กข 43 ถึงไม่ใช่ข้าวเพื่อคนป่วย แต่เป็นข้าวสุดเฮลท์ตี้ที่มีคนมารอต่อคิวซื้อ!
22 มีนาคม 2565
สองปีที่ผ่านมา หลังจากที่โลกต้องรับมือกับโรคระบาด เรื่องสุขภาพถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาเป็นเรื่องแรก เช่นเดียวกับการเลือกกิน ‘ข้าว’ ที่ถูกยกระดับความใส่ใจมากกว่าเดิม เทรนด์การกินข้าวเป็นยา ถูกปลุกให้กลับมาคักคักอีกครั้ง จากที่เราเคยเลือกกินข้าวที่แค่นิ่ม หอม อร่อย กินง่าย วันนี้เราต้องเปลี่ยนมาเลือกกินข้าวที่เฮลท์ตี้กว่าเดิม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้รวมอยู่ในข้าวพันธุ์ ‘กข 43’ ที่ใครหลายคนอาจเคยมองข้าม
กข 43 เป็นชื่อสายพันธุ์ข้าวขาวที่โดดเด่นเรื่องดัชนีน้ำตาลระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ จึงช่วยให้ร่างกายอิ่มนาน โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง เมื่อก่อนข้าวพันธุ์นี้โด่งดังแค่ในวงการแพทย์ เพราะเป็นข้าวที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน แต่ปัจจุบัน เมื่อคนหันมาสนใจวิถีการกินแบบเฮลท์ตี้ ข้าวพันธุ์นี้เลยถูกจับตามองอีกครั้ง ศาลานาเลยอยากชวนทุกคนไปตีสนิทกับ กข 43 ให้มากกว่าเดิม ผ่านคำบอกเล่าของชาวนามือดีของเราที่ปลูกข้าวพันธุ์นี้ได้อร่อยมาก
ขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘พี่นารี ป้อมงาม’ หนึ่งในชาวนาอินทรีย์จังหวัดนครปฐม ที่ปลูกข้าว กข 43 กินเองมาหลายปี และยังใจดี ปลูกส่งต่อให้คนอื่นที่รักสุขภาพด้วย ไปฟังเสียงจากพี่นารีกันว่า ข้าวพันธุ์ กข 43 นี้มีดีอย่างไร ทำไมถึงวันนี้ ถึงมีแฟนคลับมากมายมารอต่อคิวซื้อกับพี่นารีโดยเฉพาะ!
เพราะเมื่อลองปลูกกินเองแล้ว สุขภาพดีขึ้นจริง ๆ
ก่อนจะมาเป็นชาวนาอินทรีย์เต็มตัว สมัยก่อนพี่นารีมีสวนผลไม้ของตัวเอง ซึ่งยังปลูกโดยใช้สารเคมีอยู่ ในตอนนั้นพี่นารีได้ฉายาว่าเป็น ‘มือเคมี’ ของบ้าน เพราะทุกเช้าตรู่จะต้องตื่นมาฉีดทั้งปุ๋ยทั้งยา จนเมื่อสังเกตว่าสุขภาพของตัวเองเริ่มทรุดลง จึงหันเหไปลงเรียนวิชาการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ลงทุนกับที่ดินแปลงใหม่ไว้ทดลองทำนาอินทรีย์ปลูกข้าวโดยเฉพาะ
หลังจากเริ่มทำแปลงนาอินทรีย์ได้ไม่นาน พี่นารีก็ตรวจพบว่าร่างกายตัวเองถูกคุกคามด้วยโรคเบาหวาน จนต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตามคุณหมอสั่ง จากการศึกษาเรื่องการทำนาอินทรีย์ก็พบว่า พันธุ์ข้าวขาวที่กินง่ายและดีต่อคนป่วยเบาหวานคือพันธุ์ ‘กข 43’ จึงตัดสินใจปลูกเอาไว้กินเองเพื่อรักษาโรค
“พอรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นเบาหวาน ต้องลดน้ำตาล เราก็ดูว่าอะไรที่เรากินได้กินไม่ได้ตามคุณหมอบอก แต่อย่างหนึ่งที่เราขาดไม่ได้ก็คือข้าวนี่แหละ ต้องกินทุกวัน คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่เขาก็กินข้าวกล้อง ข้าวสี แต่มันไม่ถูกปากเรา ไปเจอข้าว กข 43 ที่เป็นข้าวขาว ข้าวนิ่ม กินง่าย ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อนะ ยังซื้อเขามากินอยู่
พอเริ่มกินข้าว กข 43 มาอาทิตย์กว่า ไปเช็กน้ำตาลในเลือดแล้วมันลดลงจริง ๆ เราก็เลยกินอย่างนั้นมาเรื่อย ๆ หลังจากนั้นก็เริ่มจริงจังกับการปลูก กข 43 แบบอินทรีย์กินเอง กินทุกวัน จนตอนนี้น้ำตาลคงที่แล้วนะ”
พี่นารีเล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจ
เพราะขนาดคุณหมอยังเป็นแฟนคลับข้าวพันธุ์นี้
พี่นารีเล่าว่า เมื่อก่อนข้าวพันธุ์ กข 43 ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ส่วนใหญ่จะเป็นที่พูดถึงแค่กลุ่มคนในวงการแพทย์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และคนรักสุขภาพสุด ๆ เพราะจุดเด่นของข้าว กข 43 คือ มีดัชนีน้ำตาลระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ กว่าข้าวทั่วไปในท้องตลาด ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลจากข้าวได้ช้าลง เพราะชื่อเสียงดีอย่างนี้ พอพี่นารีตัดสินใจปลูก เลยมีแฟนคลับคนรักสุขภาพรอซื้ออยู่เต็มไปหมด
หนึ่งในแฟนคลับที่เหนียวแน่นของข้าวพันธุ์ กข 43 คือ คุณหมอจากโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ที่มาเจอข้าวของพี่นารีที่ตลาด แล้วตัดสินใจผูกปิ่นโตสั่งข้าวกับพี่นารีเป็นประจำทุก 1-2 เดือน ดังนั้น ทุกครั้งที่เกี่ยวข้าวจากนาอินทรีย์ได้ พี่นารีจะต้องกันข้าวส่วนหนึ่งไว้ส่งขายให้คุณหมอ จากความตั้งใจเดิมที่พี่นารีคิดจะปลูกข้าวเพื่อเซฟตัวเองจากโรคเบาหวานคนเดียว ก็กลายเป็นการปลูกข้าวเพื่อเซฟผู้ป่วยเบาหวานคนอื่น ๆ ได้ด้วย
“ท่านเป็นคุณหมอที่ดูแลคนไข้โรคเบาหวาน มีคลินิกเป็นของตัวเอง ปกติท่านแนะนำให้คนไข้กินข้าวพันธุ์นี้ เราก็ส่งข้าวไปขายที่คลินิกของท่านด้วย เอาไปส่งทีก็ 100 กว่ากิโลกรัม คุณหมอก็บอกนะว่าข้าวพันธุ์นี้ ต่อให้ไม่เป็นเบาหวานก็กินได้ เพราะกินแล้วน้ำตาลในร่างกายมันไม่พุ่ง”
นอกจากประโยชน์หลัก ๆ ที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดโดยตรงในข้าว กข 43 ยังมีโมเลกุลแป้งขนาดใหญ่กว่าข้าวชนิดอื่น การย่อยข้าวเลยใช้เวลานานขึ้น ทำให้เรารู้สึกอยู่ท้องนานกว่าเดิม ไม่อยากกินจุบจิบระหว่างวัน ข้าว กข 43 จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีมากสำหรับคนที่กำลังควบคุมอาหาร หรือควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ รวมไปถึงคนที่อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้นในภาพรวมอีกด้วย
เพราะ กข 43 เป็นข้าวน้ำตาลต่ำ ที่อร่อยไม่แพ้ข้าวขาว
แล้วรสชาติของข้าว กข 43 เหมือนข้าวขาวทั่วไปที่เรากินไหมนะ?
“ตอนกินเข้าไปมันจะนิ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไม่ได้ออกรสหวานมาก เพราะน้ำตาลในข้าวน้อย ถ้าคนที่กินข้าวหอมมะลิมาก่อนอาจจะรู้สึกว่าข้าวนี้แฉะกว่านิดหน่อย เอาจริง ๆ ลูกสาวคนเล็กของพี่ก็ติดข้าวพันธุ์นี้นะ แกบอกว่ากินข้าวที่ไหนก็ไม่ถูกปาก นึกถึงแต่ข้าวบ้านเราอย่างเดียวเลย” พี่นารีอวดให้เราฟังถึงความอร่อยของข้าว กข 43 ที่คนในครอบครัวได้สัมผัส
นอกจากคนใกล้ตัวของพี่นารีที่เอนจอยกับข้าว กข 43 ยังมีลูกค้าประจำของพี่นารีอีกหลากหลายอาชีพ ที่เจาะจงเลือกกินข้าวพันธุ์นี้ในชีวิตประจำวัน ทั้ง ๆ ที่ร่างกายยังแข็งแรง ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร
“เราเคยไปขายข้าวในมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ก็มาซื้อกินกันเยอะมากนะ สั่งไปกินที่บ้านทีละหลายกิโลกรัม บางคนบอกว่าน้ำตาลในร่างกายน้อยอยู่แล้วไม่ได้ต้องลด เแต่ตั้งใจมาซื้อข้าว กข 43 เพราะเขาชอบกิน และกินแล้วมันช่วยควบคุมสุขภาพให้แข็งแรง ดีกว่าไปเลือกกินข้าวตอนที่เริ่มป่วยแล้ว
เชื่อพี่เถอะ ว่าคนที่ติดกินข้าวขาว ไม่ถนัดกินข้าวกล้อง ลองเริ่มเปลี่ยนมากิน กข 43 ก่อน ช่วยเรื่องสุขภาพได้และกินง่ายกว่าข้าวสีเยอะ”
เพราะยุคนี้เรื่องสุขภาพต้องมาก่อน
ในยุคที่ใครสุขภาพแข็งแรงกว่าก็ชนะไปในตอนนี้ เราเชื่อว่าหลายคนหันมาสนใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น เริ่มจากปรับเปลี่ยนวิถีการกินให้ดีต่อสุขภาพ หากใครยังคงลดน้ำตาลในของหวานสุดโปรดไม่ได้ หรือยังไงก็ติดใจรสของข้าวขาวอยู่ การลองเริ่มต้นเฮลท์ตี้แบบ 101 ด้วยการเปลี่ยนข้าวที่กินทุกวันเป็นข้าวน้ำตาลต่ำ ก็ดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ศาลานาช่วยรับซื้อข้าวพันธุ์ กข 43 ที่พี่นารีปลูกอย่างตั้งใจ ส่งตรงไปถึงมือคนกินได้สะดวกขึ้น โดยได้เข้ามาผูกปิ่นโตซื้อข้าวจากแปลงพี่นารีด้วยราคาที่เป็นธรรม แล้วนำมาต่อยอดเป็น ‘ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์’ ซึ่งผสมรวมประโยชน์จากทั้งข้าว กข 43 ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมปทุมธานี และข้าวมะลินิลสุรินทร์ เปรียบเสมือนได้กินวิตามินรวมจากธรรมชาติ มีสารอาหารจากข้าวหลากสีหลากสายพันธุ์ในถุงเดียว ที่สำคัญ ยังปลูกแบบไม่ใช่สารเคมีอีกด้วย
ข้อดีอีกอย่างของข้าว กข 43 ในมุมคนปลูก คือปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง แถมเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดด ใช้เวลาปลูกเพียง 95-100 วันก็เก็บเกี่ยวได้ จึงเหมาะกับการปลูกแบบอินทรีย์ในพื้นที่ภาคกลาง กข 43 จึงเป็นข้าวอีกพันธุ์ที่ศาลานาคอยเชียร์ และส่งเสริมให้ชาวนาภาคกลางได้ปลูก เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวปลอดภัยไร้สารเคมี และขยายพื้นที่สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กว้างขวางออกไปอีก
มาอุดหนุนข้าวเพื่อสุขภาพของพี่นารี ด้วยการลองสั่ง ‘ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์’ ของศาลานาได้ที่ www.salanashop.com
เรื่องที่น่าสนใจ
ถ้าเคยลงมือทำการเกษตร คุณคงพอเข้าใจว่า ‘ดิน’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเพาะปลูก
ปลูกข้าวดี แล้วต้องไปสีที่ไหน?
รู้จักแอนโทไซยานิน สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ที่ซุกซ่อนอยู่ในข้าวสีเข้ม
ครอบครัวเรา กินข้าวหม้อเดียวกัน ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ หุงหม้อเดียว กินดีทุกวัย
ดื่ม ‘ข้าว’ กันไหม? จากวัฒนธรรมดื่มน้ำข้าว สู่นวัตกรรมชงดื่มง่ายเพื่อผู้สูงวัย