ข้าวอินทรีย์ที่ผมปลูก ผมเก็บไว้กินเองทุกวัน เพราะมันอร่อยที่สุด
5 มิถุนายน 2565
“ตั้งแต่ปี 56 ที่เริ่มปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ผมไม่ได้ซื้อข้าวข้างนอกกินเลย ข้าวที่ปลูก ผมเก็บไว้กินเอง ครั้งแรกเลยที่ปลูกแล้วเอามาสีและกิน กินข้าวเท่าไรก็ไม่อิ่ม รู้สึกว่ามันอร่อยมาก” นี่คือประโยคบอกเล่าข้าวอร่อยที่ชวนให้คล้อยตาม ของชาวนาอินทรีย์ภาคกลางที่ศาลานาอยากแนะนำให้คุณได้รู้จัก
ชวนลัดเลาะทุ่งนาไปคุยกับ “ธวัชร กิตติปัญโยชัย หรือ พี่ธวัชร” ชาวนาอินทรีย์ในจังหวัดนครปฐม ที่ภูมิใจและหลงใหลความอร่อยในข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นที่สุด นอกจากจะปลูกข้าวพันธุ์นี้แบบอินทรีย์เพื่อกินเองและขายเองมามากกว่า 8 ปี พี่ธวัชร ยังส่งต่อความอร่อยและปลอดภัยมาให้ผู้บริโภคผ่าน “ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์” ของศาลานา ข้าวซ้อมมือที่รวมคุณประโยชน์เต็มเมล็ดของข้าวหลากสายพันธุ์เอาไว้ในถุงเดียว
ทำไมพี่ธวัชรถึงได้หลงรักข้าวพันธุ์นี้เป็นพิเศษ และมีวิธีดูแลข้าวอินทรีย์แปลงนี้อย่างไรให้เก็บเกี่ยวแล้วได้ข้าวที่กินเดี่ยวก็อร่อย กินรวมกับข้าวพันธุ์อื่นก็อร่อย ในบทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ
จากนาส้มโอของย่า สู่นาข้าวอินทรีย์
พี่ธวัชรรับช่วงดูแลพื้นที่ปลูกส้มโอของย่ามาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน หลังจากที่โดนน้ำท่วมใหญ่ โดยตัดสินใจเปลี่ยนสวนส้มโอให้เป็นนาข้าว แต่ด้วยความที่เคยปลูกโดยใช้สารเคมีมาก่อน เลยทำให้พื้นดินบริเวณนั้นเสื่อมโทรมจนต้องบำรุงดินกันยกใหญ่ ระหว่างที่ลงมือปลุกปั้นทั้งสวนและนาของตัวเอง พี่ธวัชรได้เริ่มศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์ผ่านงานอบรมต่าง ๆ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนที่ทำนาอินทรีย์ เลยได้ทดลองปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ได้สำเร็จ และมีแนวคิดที่จะเริ่มทำนาแบบปฏิเสธสารเคมีอย่างจริงจัง
“เราปลูกข้าวเพื่อกินเองด้วย และเรารู้ว่าสารเคมีที่ฉีดลงไป มันเป็นอะไรบ้าง มันมีผลกับร่างกายยังไง ตอนที่ทำนาเคมีผมจ้างคนมาฉีดให้ มีวันหนึ่งช่วงเย็นผมอุ้มลูกออกไปเดินเล่นในสวน ลมพัดกลิ่นสารเคมีลอยออกมาแรงมาก ทั้ง ๆ ที่ฉีดเสร็จไปแล้วตั้งแต่เช้า แสดงว่าในนาข้าวใช้สารเคมีที่เข้มข้นมาก ทำให้เราคิดว่าจะต้องเปลี่ยนตัวเองแล้ว เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำนาอินทรีย์” เพราะสำหรับพี่ธวัชร ไม่มีอะไรปลอดภัยไปกว่าการปลูกข้าวกินเอง และยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเมื่อหันหน้าเดินทางสายเกษตรอินทรีย์ที่ปฏิเสธสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์
“ตั้งแต่ปี 56 ที่เริ่มปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ผมไม่ได้ซื้อข้าวข้างนอกกินเลย ข้าวที่ปลูก ผมเก็บไว้กินเอง”
หลังจากที่พี่ธวัชรค่อย ๆ สะสม และเติมความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ถึงได้รู้ว่าการทำนาอินทรีย์ให้ดีต้องทำให้ได้มาตรฐาน มีอีกหลายเงื่อนไขการปลูกที่มากกว่าการเลิกใช้สารเคมี ฟังดูเหมือนยาก แต่การได้มีเพื่อนที่ทำอินทรีย์เหมือนกัน ได้แลกเปลี่ยนเทคนิคการทำนา และนำมาแชร์กันเพื่อหาวิธีทำผลลัพธ์ให้ดีที่สุด ก็ทำให้พบว่าการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะมีความสุขที่ได้กินข้าวอร่อย ยังช่วยลดต้นทุนไปได้มาก
นับนิ้วไปมาก็ 8 ปีกว่าแล้ว ที่พี่ธวัชรตัดสินใจปลูกข้าวไว้กินเอง ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้ขาย นี่คือชีวิตใหม่ของพี่ธวัชรเมื่อเข้ามาอยู่ในเส้นทางอินทรีย์แบบเต็มตัว
ตกหลุมรักในความอร่อยของ “ข้าวปทุมธานี 1”
ถ้าพูดถึงข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 อาจไม่ใช่พันธุ์ข้าวที่เราคุ้นหู แต่เป็นพันธุ์ข้าวที่ซื้อใจชาวนาอย่างพี่ธวัชรได้ ด้วยรสสัมผัสคล้ายข้าวหอมมะลิ นิ่มและหอม และที่สำคัญคือปลูกในพื้นดินภาคกลางได้ดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกข้าวพันธุ์นี้นับแต่นั้นมา
“ข้าวปทุมธานี 1 สายพันธุ์ของเขาจะเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เหมือนกลิ่นใบเตย มีความนิ่ม นุ่ม และหอม คล้าย ๆ กับข้าวหอมมะลิ โดยส่วนตัวผมมองว่าถ้าเป็นข้าวกล้อง ข้าวหอมปทุมจะนิ่มกว่าข้าวหอมมะลิด้วยซ้ำ ก็เลยทำให้ติดใจในรสชาติและกลิ่น” พี่ธวัชรขยายคำว่าข้าวอร่อยให้เราฟัง
ผลผลิตจากข้าวปทุมธานี 1 ที่พี่ธวัชรปลูกนั้น จะแบ่งไว้ส่วนหนึ่งไว้ประมาณ 2 ตัน สำหรับเป็นเมล็ดพันธุ์ สีกินเองที่บ้าน และสีขายในชุมชน ส่วนที่เหลือจะขายเป็นข้าวเปลือกส่งให้ศาลานา เพื่อให้ศาลานาต่อยอดข้าวของพี่ธวัชรเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และเพิ่มช่องทางส่ง
ตรงให้ถึงมือผู้บริโภค
“ครั้งแรกเลย ที่ปลูกแล้วเอามาสีและกินเป็นข้าวต้ม มันกินข้าวเท่าไรก็ไม่อิ่ม รู้สึกว่ามันอร่อยมาก เหมือนไม่เคยได้กินข้าวที่มันอร่อยแบบนี้มานานแล้ว” พี่ธวัชรพาเรากลับไปวันที่เขาค้นพบความมั่นใจในความอร่อยของข้าวที่ปลูก เป็นความรู้สึกที่ทำให้หันมาเดินทางสายอินทรีย์กับข้าวพันธุ์นี้อย่างจริงจัง เราแค่ฟังก็อยากลองกินข้าวพันธุ์นี้เสียตั้งแต่ตอนนั้น พี่ธวัชรเลยแอบบอกเทคนิคมาด้วยว่าถ้าอยากกินข้าวให้อร่อยจริง ๆ ต้องกินข้าวใหม่
“ข้าวทุกพันธุ์ภายใน 3 เดือนแรกเนี่ย จะกินอร่อยที่สุด โดยเฉพาะเดือนแรกจะอร่อยมากเลย เพราะเหมือนมันยังมียางอยู่ มีความชื้นอยู่ในตัวเขาเยอะ มันก็จะอร่อยกว่า แต่ต้องหุงแบบปรับน้ำลงหน่อยนะ ไม่งั้นมันจะแฉะ ขนาดข้าวที่เมล็ดหักเอามาต้มกินก็ยังอร่อย ผมเคยเอาข้าวที่เมล็ดหักไปขายถูก ๆ ที่ตลาด ตอนแรกก็ไม่มีคนสนใจมองว่ามันเป็นปลายข้าว แต่มีคนเอาไปหุงแล้วติดใจ กลับมาถามผมว่าข้าวแบบนี้มีอีกไหม” ยิ่งพี่ธวัชรบรรยายถึงความอร่อยของข้าว ยิ่งเหมือนเรากำลังเปิดหม้อข้าวที่หุงสุกใหม่ ๆ สัมผัสกลิ่นหอมฟุ้งที่ลอยออกมา
ปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ดี ต้องรู้จักพื้นที่ของตัวเอง
ความอร่อยของข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 จากที่ไม่ค่อยมีคนได้สัมผัส ตอนนี้เริ่มมีคนรู้จักในชื่อเสียงด้านรสสัมผัสมากขึ้น ส่วนสำคัญที่สุดเพราะชาวนาอย่างพี่ธวัชรเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ ดิน ฟ้า อากาศ จนได้ข้าวที่เติบโตออกรวงมาเป็นผลผลิตที่สมบูรณ์
“เราต้องมาดูว่าพื้นที่ภาคกลางของเราเหมาะปลูกข้าวอะไร โดยมากแล้วภาคกลางชาวนาจะปลูกข้าวแป้ง ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 ที่ปลูกกันมากในภาคอีสานที่นี่ก็ปลูกได้ แต่เขาจะไม่หอม ส่วนพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ปลูกได้ทั่วไปเลย ไม่ว่าคุณจะปลูกวันเดือนปีไหน คุณภาพเขาก็จะดี เขาก็จะนิ่มหอมแบบนี้”
ถึงแม้ชาวนาภาคกลางส่วนใหญ่อยากปลูกข้าวหอมมะลิ รวมถึงพี่ธวัชรด้วย เพราะเป็นพันธุ์ข้าวยอดนิยมขายได้ราคาสูง แต่ไม่ใช่ว่าข้าวทุกพันธุ์จะปลูกได้อร่อยเหมือนกันทุกที่ การเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เหมาะกับภูมิอากาศหรือสภาพแวดล้อมเป็นการเริ่มต้นความอร่อยที่สำคัญมาก
ถ้าอยากให้ข้าวอร่อย ต้องไม่ไปเร่งเขา แต่ให้เขาค่อย ๆ โต
กว่าข้าวจะอร่อยได้ ต้องผ่านการทดลองปลูก เพื่อหาสูตรการดูแลข้าวที่ทำให้ได้ข้าวอินทรีย์เมล็ดสมบูรณ์โดยไม่พึ่งสารเคมี ทั้งยังต้องมีการวางแผนทำนา รับมือกับวัชพืชในนาข้าวอีกมากมาย ซึ่งพี่ธวัชรบอกให้เราฟังว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เพราะเขามีวิธีที่เหมาะกับนาและได้ผลดี ทำให้ข้าวนานี้อร่อยดั่งที่หวัง
“การทำนาอินทรีย์ไม่ใช่แค่เลิกใช้สารเคมี แต่มันรวมถึงระบบของแปลงด้วย การดูแลรักษาที่ไม่ได้ไปใส่ยาหรือฮอร์โมนที่กระตุ้นหรือเร่งให้เขาเติบโต แต่เน้นในการทำดินให้อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ต้น แล้วให้เขาค่อย ๆ เจริญเติบโตตามวัย ก็จะได้ข้าวที่มีคุณภาพที่ดีตามสายพันธุ์” พี่ธวัชรเกริ่นถึงเคล็ดลับในการปลูกข้าวอร่อยให้เราฟัง
“ถ้าศัตรูข้าวที่เป็นแมลง ผมไม่มีปัญหานะเพราะเราใช้สมุนไพรฉีดได้ แต่ว่าโดยธรรมชาติของนาอินทรีย์ เราจะไม่ค่อยได้ไปฆ่าแมลงศัตรูพืชหรอก เพราะมันมีทั้งตัวที่ดีและไม่ดี แมลงตัวดีมันจะไปกินแมลงที่เป็นศัตรูข้าว เป็นระบบนิเวศปกติของมันอยู่แล้ว” เมื่อนาไม่มีสารเคมี กุ้ง หอย ปู ปลา หรือแมลงในนาก็กลับมาอาศัยอยู่ได้ เมื่อสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ก็กลับมาเป็นเครื่องยืนยันว่านาเราปลอดภัยไร้สารเคมีจริง ๆ
เพราะการทำนาของพี่ธวัชรยังต้องรักษามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชจึงต้องได้มาตรฐาน ตรวจสอบและยืนยันได้ว่าได้เป็นอินทรีย์จริง ๆ ถ้าใช้ชีวภัณฑ์แบบไม่รู้ที่มาที่ไปอาจเสี่ยงกับการปนเปื้อนสารเคมีในนาข้าว ทำให้พี่ธวัชรตัดปัญหาโดยการเลิกซื้อชีวภัณฑ์จากที่อื่นมาใช้ และใช้เพียงสมุนไพรที่ปลูกและหมักเอง ที่สามารถบอกที่มาของสมุนไพรได้ทั้งหมด วิธีการคือซื้อสมุนไพรสดมาแค่ครั้งเดียวแล้วแบ่งเอามาปลูกด้วยใช้ด้วย พอใช้หมดก็เก็บจากที่ปลูกไว้มาใช้อีกครั้ง เกิดเป็นวงจรปุ๋ยอินทรีย์แบบรู้ที่มาที่ไปที่พี่ธวัชรคิดค้นขึ้นและเวิร์กกับตัวเองเช่นกัน
อยากให้คนกินเปิดใจให้ “ข้าวปทุมธานี 1”
“หลังจากที่เข้าร่วมกับศาลานา ผมเหมือนได้เพื่อนใหม่ที่ช่วยเดินหน้าเรื่องการตลาดให้ ปัญหาหลัก ๆ เลยของเกษตรกรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นสวน ไร่ นา คือเราจะมีปัญหาเรื่องการตลาด ไม่รู้ว่าทำแล้วเอาไปขายตรงไหน เพื่อให้คุ้มค่ากับการที่ลงทุนลงแรงทำขึ้นมา
“คนกินมีหลายกลุ่ม อย่างคนที่เขากินข้าวเพื่อสุขภาพ พอเขารู้ว่าเป็นข้าวอินทรีย์เขาจะไม่ติดเรื่องราคาเลย ถ้าราคามันใกล้เคียงกับที่เขาเคยบริโภคอยู่เขาก็จะซื้อเลย แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปที่กินข้าวเขาจะดูคิดว่าข้าวอินทรีย์มันแพง แต่เขาไม่รู้หรอกว่าในการปลูกข้าวอินทรีย์ ชาวนาต้องทำอย่างประณีตพิถีพิถันในทุกขั้นตอน เมื่อผลิตออกมาแล้ว ก็อยากให้ผู้บริโภคเปิดใจรับ ลองบริโภคข้าวอินทรีย์ที่ไม่มีสารเจือปนในด้านสารเคมีเลย ราคาอาจจะแตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป แต่ก็ไม่มาก ลองเปิดใจลองกินดูแล้วรู้ว่ามันต่างกัน ด้วยรสชาติ ด้วยคุณภาพของข้าว และความปลอดภัย สุขภาพของตัวเองสำคัญ
“ผมอยากให้คนกินเปิดใจลองกินข้าวปทุมธานี 1 แล้วจะรู้ว่าอร่อยจริง ๆ”
ข้าวอร่อยไม่ใช่แค่ความหอมนุ่มจากรสสัมผัส แต่ยังอร่อยเพราะกินได้อย่างสบายใจไร้สารเคมี อร่อยเพราะรู้ว่าข้าวที่เราอุดหนุนนี้ผลตอบแทนส่งไปถึงชาวนาโดยตรง
ชวนมาลองเปิดใจให้ข้าวปทุมธานี 1 จากฝีมือของพี่ธวัชร ที่รวมอยู่ใน “ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์” ของศาลานา ซึ่งบรรจุข้าวอินทรีย์แสนอร่อยจากชาวนาอีกหลาย ๆ ท่าน และแน่นอนว่านอกจากความอร่อยแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้ระบบรับซื้อข้าวอินทรีย์ได้อยู่ต่อไป หรือถ้าอยากลองข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 แบบเพียว ๆ ก็ไปสั่งซื้อโดยตรงกับพี่ธวัชรได้เช่นกัน
ลิ้มลองรสชาติข้าวแสนอร่อยของพี่ธวัชร โดยสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ได้ที่ www.salanashop.com
เรื่องที่น่าสนใจ
วิธีกินอย่างพอดี เมื่อเป็นเบาหวาน
ไม่ใช่แค่ชื่อแบรนด์ข้าวที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์ในราคาที่เป็นธรรม หรือชื่อบนตราสัญลักษณ์ SALANA PGS ที่ยืนยันมาตรฐานอินทรีย์ที่ปลอดภัย ‘ศาลานา’ ยังเป็นโรงเรียนด้วย!
เรื่องดัก ‘เก๋า’ เกี่ยวกับข้าว ที่ยังหอมฉุยอยู่ในความทรงจำ
ปีใหม่ ทำไมต้องกิน ‘ข้าวใหม่’?
วิธีหุงข้าวให้หอมนุ่มตามหลักกินอยู่แบบแมคโครไบโอติกส์